วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

กลไกการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก

การเชื่อมโยงของโลกยุปัจจุบัน เป็นไปอย่างแน่นเหนียว อย่างยากที่ประเทศใดจะอิสระตนเองได้ หากการเชื่อมโยงนี้เป็นสัมมาปฏิปทา โลกก็จะเจริญรุ่งเรือง สงบร่มเย็น แต่หากเป็นไปในทางอวิชชา ก็จะเดือดร้อน ทุกข์เข็ญกันทั่วโลก ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างหลัง แต่เชื่อว่าไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นมิจฉาปฏิปทา แต่เป็นไปด้วยความไม่รู้มากกว่า(อวิชชา) ปี 2011 มีการชุมนุมเดินขบวน จลาจลในหลายประเทศ ทั้งที่ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง อย่างที่ประเทศอิสราเอลคนชุมนุม 2 แสนคน บอกเหตุผลของการมาชุมนุมว่า ค่าครองชีพสูง ข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอต่อไปนี้ ที่ประกอบด้วยข้อมูลของประเทศต่างๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ของโลก รวมทั้งของประเทศไทยแสดงถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น


ค่าเงินบาทย้อนหลัง 30 ปี 1981–2011 (2524-2554)

การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทตามปกติ และผิดปกติ เกิดจากทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยนอกประเทศ หลังปี 2524 ทำให้เราต้องลดค่าเงินบาทหลายครั้ง และกลางปี 2540 หนักกว่าเดิม เราต้องลอยค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทอยู่ในฐานะลอยค่ามาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องลดค่าเงินและลอยค่าเงินบาท ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปตามภาวะปกติ แต่เพราะความไม่เข้าใจ ต้องพ่ายแพ้และให้ยอมจำนนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้เรายังไม่รู้ว่า ต้นเหตุอะไรทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย สภาพคล่องเสียหาย กระทั่งต้องลดและลอยค่าเงินบาท ทำให้เอกชนและประชาชนเดือดร้อน ได้รับความเสียหายทั้งประเทศ

ต้องเข้าควบกิจการไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่ง ที่รู้จักในชื่อโครงการ 4 เมษายน 2527 และเข้าไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในเวลาต่อมา หนักกว่าเดิม ทุนสำรองลดลงอย่างมาก สภาพคล่องเสียหายหนัก ทำให้ต้องลอยค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ทำให้ต้องปิดกิจการถาวรบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์และธนาคาร 56 แห่ง ในโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ก่อให้เกิดหนี้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.392 ล้านล้านบาท โดยความเสียหายนี้ไม่รวมความเสียหาย จากธนาคารขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เราต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟเป็นครั้งที่ 2

ผู้บริหารระดับสูงสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ว่าไฟแนนซ์และธนาคารพาณิชย์ล้มลงประมาณ 80 แห่ง

เป็นเรื่องที่ทารุณสำหรับประเทศมาก ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ถูกปิดกิจการ ที่เหลือ อยู่ก็ไม่ใช่ของคนท้องถิ่นแล้ว แต่ตกเป็นของต่างชาติหรือเป็นของกองทุนหลายสัญชาติ (ดูข้อมูลท้ายบทความนี้)

1978 (2521) SET Index ตกครั้งแรก ค่าเงินบาทตกครั้งแรก

แผนภูมิซ้าย ไทยเปิดตลาดหุ้นในปี 1975 ตลาดได้ใช้เวลาในการไต่ระดับขึ้นมา 3 ปี จากนั้นก็ตกลง และตกลงรุนแรงระหว่างปี 1978-1982

แผนถูมิขวา มีการลดค่าเงินบาทหลายครั้งตั้งแต่ปี 1981 แล้วมีความพยายามยืนค่าเงินบาท (fixed) ระหว่างกลางปี 1981 ถึงปลายปี 1984 แต่แล้วก็ไม่สามารถยืนค่าเงินบาทไว้ได้ ต้องลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่ในปลายปี 1984

เกิดโครงการ 4 เมษายน 2527 โดยทางการการเข้าควบกิจการไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์ 25 แห่ง และเข้ารับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก ใช้วงเงินไอเอ็มเอฟ 982 ล้านเหรียญสหรัฐ

แสดงว่าการตกลงของตลาดหุ้น เป็นต้นเหตุความเสียหายของค่าเงิน จนต้องลดค่าเงิน

1994 (2537) SET Index พังทลายครั้งที่ 2 ค่าเงินบาทพังทลายครั้งที่ 2

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่หนักกว่าเดิม เป็นผลมาจากไม่ตระหนักแต่แรกว่า ต้นเหตุวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อนหน้าคืออะไร ปรัชญาการตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่ตรงประเด็นของการป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหา เป็นการคิดแก้ปัญหาปลายเหตุ รวมทั้งมีการนำระบบ Maintenance margin และ Force sell มาใช้ในตลาดหุ้น จึงกลายเป็น 2 แรงแข็งขัน ทำให้เกิดความเสียหายต่อตลาดทุน ตลาดเงิน อย่างเหลือเชื่อ

แผนภูมิซ้าย ระหว่างปี 1994 – 1998 ดัชนีตลาดหุ้นตก 88 เปอร์เซ็นต์ 

แผนภูมิขวา มีการปกป้องค่าเงินบาท แต่ก็สู้ไม่ไหว ต้องลอยค่าเงินบาทในที่สุด จึงเห็นว่าค่าเงินบาทเสียหายจริง ค่าเงินบาทตกแรง 55 เปอร์เซ็นต์

เกิดโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ทางการการสั่งปิด 56 สถาบันการเงิน ก่อให้เกิดหนี้ไว้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.392 ล้านล้านบาท

ต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟเป็นครั้งที่ 2 ใช้วงเงินไอเอ็มเอฟ 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยืนยัน การพังทลายของตลาดหุ้น เป็นต้นเหตุความเสียหายของค่าเงิน จนต้องลอยค่าเงิน

2000 (2543) ประเทศอเมริกา Nasdaq Index พังทลาย ค่าเงิน เหรียญสหรัฐพังทลาย

การปรับปรุงตัวหุ้นในการคำนวณดัชนีแนสแดกซ์ในปี1999 (Index reformed) ทำให้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของดัชนี (Standard deviation) สูงขึ้นมาก ทำให้ดัชนีอ่อนแอสูง จึงถูกปั่นได้ หรือถูกโจมตีได้ง่าย ดัชนีถูกลากขึ้นไปสูงในต้นปี 2000 แล้วก็ทุบให้พังทลายลงอย่างรุนแรง และลงไปต่ำสุดในปี 2002
แผนภูมิซ้าย ระหว่างปี 2000-2002 ดัชนีตลาดหุ้นตกลง 78 เปอร์เซ็นต์

2 แผนภูมิขวา ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย เมื่อเทียบกับเงินยูโร (EUR) และเงินเยน (YEN)
ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหายเมื่อเทียบกับเงินเกือบทุกสกุล ไม่ว่าเงินปอนด์ของอังกฤษ เงินสิงคโปร์ดอลลาร์ ฯลฯ รวมทั้ง เงินบาทของไทย การพังทลายของตลาดหุ้น จะเกิดที่ประเทศใดก็ตาม จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นเสียหาย ทำให้สภาพคล่องมีปัญหา และเกิดหนี้เสีย 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องเพิ่มเพดานนี้ทุกปี ทั้งสภาสูงและสภาล่างต้องอนุมัติกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ถึงปี 2012 สูงเป็นประวัติการณ์กว่า 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เงินเหรียญสหรัฐเป็นสกุลเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือว่าเป็นสกุลเงินของโลก การพังทลายของเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินเฟ้อหรือค่าครองชีพโลกเพิ่มขึ้นรุนแรง นำความเสียหาย นำความเดือดร้อนมาสู่ชาวโลกอย่างทารุณ ดูข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจในช่วงถัดไปของบทความนี้

ยืนยัน การพังทลายลงของตลาดแนสแดกซ์ เป็นต้นเหตุของการพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ

ทำไมดัชนีแนสแดกซ์จึงอ่อนแอ !!!!!

ตลาดหุ้นสหรัฐมี 2 ตลาด คือตลาดนิวยอร์ค(New York stock exchange/NYSE) มีขนาดใหญ่กว่า(2/3) และตลาดแนสแดกซ์(NASDAQ)มีขนาดเล็กกว่า(1/3) เมื่อมีการลากตลาดขึ้นมา ตลาดแนสแดกซ์ก็จะมีขนาดใหญ่หรือใกล้เคียงตลาดนิวยอร์คได้

DJIA เป็นดัชนีราคา (Price weighted index) ใช้หุ้น Blue chips 30 ตัวมาคำนวณสร้างเป็นดัชนี ซึ่งหุ้นที่ใช้ในการคำนวณดัชนีเป็นหุ้นที่อยู่ในทั้งตลาดนิวยอร์คและตลาดแนสแดกซ์ เป็นดัชนีที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำ มีความแข็งแกร่ง ถูกปั่นได้ยาก

NASDAQ Index เป็นดัชนีมูลค่าตลาด (Market capitalization weighted index) เป็นหุ้นในกลุ่มสินค้า High technology ใช้หุ้นมากกว่า 5,000 ตัว มาคำนวณสร้างเป็นดัชนี ช่วงแรกมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำ แต่เมื่อมีการนำหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงเข้าไปคำนวณสร้างทำเป็นดัชนีเมื่อปี 1999 (Index reformed) ทำให้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของดัชนีสูงขึ้น ทำให้ดัชนีอ่อนแอลง ทำให้ถูกควบคุมหรือถูกปั่นได้ง่าย
เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของ NASDAQ Index กับ DJIA Index

เปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกัน 1998-2002 โดยปรับฐานดัชนีวันที่ 2 มกราคม 1998=100 เท่ากัน เพื่อให้สามารถเห็นความแตกต่างด้วยภาพได้ง่าย จะเห็นว่า NASDAQ ขึ้นและลงแรงกว่า DJIA ตลาด NASDAQ ถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ไตรมาสแรกของปี 2000 จากนั้นก็ถล่มทุบลงมา

ตลาดแนสแดกซ์พังทลาย ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลาย ที่เป็นผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นราคาทองคำ ราคาน้ำมัน สูงขึ้น หรือเงินเฟ้อโลกสูงขึ้น หรือค่าครองชีพโลกสูงขึ้น  ความเดือดร้อน ทุกข์เข็ญลำเค็ญก็เกิดกับชาวโลกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ปี 2000 ปีจุดเริ่มต้นวิกฤตเศรษฐกิจโลก


2007-2008 (2550-2551) ประเทศเวียดนาม ตลาดหุ้นโฮจิมินห์ตก เงินดองตก

ตลาดหุ้นเวียดนามได้รับผลดี จากการพังทลายของตลาดหุ้นแนสแดกซ์และค่าเงินเหรียญสหรัฐ เป็นตลาดเปิดใหม่ ถูกลากขึ้นอย่างรวดเร็วแค่ช่วงระยะเวลา 2 ปี จากต้นปี 2005 ถึงต้นปี 2007 แล้วแกว่งตัวขึ้นลงทั้งปีตลอดปี 2007 ก่อนที่จะถล่มลงตามโลกในปี 2008 ที่รู้จักกันในชื่อ Hamburger Crisis 
การพังทลายของตลาดโฮจิมินห์ เวียดนามในปี 2008 เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นเวียดนามตก ทำให้ค่าเงินตกเช่นกัน เงินดองของเวียดนามเริ่มตกในปี 2008

ถึงทุกวันนี้ ปี 2011 ค่าเงินดองก็ยังตกลงต่อเนื่อง ไม่ดีขึ้น ไม่ทราบว่าจะต้องเข้าไอเอ็มเอฟเหมือนที่ประเทศไทยเปิดตลาดหุ้น 3-4 ปีแรกหรือไม่

ยืนยัน การตกลงของตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นต้นเหตุให้ค่าเงินดองเสียหาย

ตัวอย่างการพังทลายตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย

ข้อมูลประจำเดือน เมษายน 2554 (2011)

อัตราเงินเฟ้อเวียดนาม 13.89% แสดงถึงภาวะอ่อนค่าของเงินดอง

อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของเวียดนามอยู่ที่ระดับ 9.00% แสดงว่าสภาพคล่องมีปัญหา

ตัวอย่างตลาดหุ้นเปิดใหม่

ไม่มีตลาดใดไม่ถูกปั่น ล้วนถูกปั่นทั้งนั้น ตลาดหุ้นเปิดใหม่ส่วนใหญ่จะเสียตัวแต่แรก ยกตัวอย่างเช่นการเปิดตลาดหุ้นไทยในปี 1975(2518) ตลาดหุ้นไซปรัส 2010 ตลาดหุ้นลาว 2011

ตลาดหุ้นเวียดนาม ที่นำเสนอในช่วงต้น ก็เป็นตลาดเปิดใหม่ ความเสียหายของตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นต้นเหตุให้ค่าเงินดองเสียหาย

ตลาดหุ้นไทย เปิดตัวครั้งแรกในปี 1975 (2518) ตลาดถูกลากขึ้นในช่วงแรก แล้วเริ่มถล่มทุบลงในปี 2521 ทำให้ตลาดหุ้นตกแรงในปีต่อมา ทำให้ต้องลดค่าเงินบาท ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ทำให้เกิดโครงการ 4 เมษายน 2527 ทำให้ต้องเข้าขอความช่วยเหลือไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก

ตลาดหุ้นไซปรัส เปิดตัวในปี 2010 ตลาดหุ้นตกไปแล้ว 63 เปอร์เซ็นต์ และยังคงตกต่ออย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นลาว เปิดตัวในปี 2011 ตลาดหุ้นตกไปแล้ว 49 เปอร์เซ็นต์ ตกต่ำกว่า 1,000 จุดแล้ว และยังคงตกต่ออย่างต่อเนื่อง

ระหว่างปี 2000-2011 มีตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ หลังตลาดหุ้นประเทศต่างๆขึ้นไปสูงสุดปลายปี 2007 ถูกถล่มทุบลงมา เกิดการพังทลายรุนแรงในปี 2008 ที่เรียกกันว่า Hamburger Crisis ทั้งตลาดหุ้นเปิดเก่า-เปิดใหม่ต้องเข้าโครงการ IMF ประมาณ 20 ประเทศ เช่น ปากีสถาน กรีก สเปน อิตาลี ปอร์ตุเกส ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ฮังการรี ยูเครน ฯลฯ

ความเสียหายที่เกิดจากการพังทลายของตลาดหุ้น เกิดที่ประเทศไหน ก็จะเป็นแบบเดียวกันทุกประการ ประเทศไทยก็เกิดหนี้เสีย อเมริกา ก็เกิดหนี้เสีย(จนต้องเพิ่มเพดานหนี้) ที่ กรีก สเปน อิตาลี ฯลฯ ก็เป็นผลมาจากการพังทลายของตลาดหุ้นของแต่ละประเทศทั้งสิ้น (ค่าเงินเสียหาย สภาพคล่องเสียหาย เอกชนล้มลง เกิดหนี้เสีย)


ผลกระทบจากการที่ตลาดแนสแดกซ์และค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลาย

ผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นภูมิภาค

2001-2007 (2544-2550) ตลาดหุ้นโลก ยุโรป พุ่งขึ้นแรง
2008 (2551) ตลาดหุ้นโลก ยุโรป พังทลายลงแรง เป็น (Hamburger Crisis)

ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลดี จากการพังทลายของตลาดหุ้นแนสแดกซ์และค่าเงินเหรียญสหรัฐในปี 2000 เงินไหลออกจากอเมริกา ออกมาซื้อตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดหุ้นโลกสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 6 ปีติดต่อกัน ขึ้นไปสูงสุดช่วงปลายปี 2007 ก่อนที่จะถล่มลงในปี 2008 (Hamburger Crisis)
แผนภูมิซ้าย เป็นดัชนีหุ้นโลก 92 ประเทศ แผนภูมิขวา แยกออกมาให้เห็นเป็นดัชนีตลาดหุ้นยุโรป39 ประเทศ รูปแบบการขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้นยุโรปเป็นแบบเดียว เวลาเดียวกัน กับตลาดหุ้นโลก แต่การพังทลายของตลาดหุ้นยุโรปแรงกว่าตลาดหุ้นโลก ขณะที่ของโลกตก 62 เปอร์เซ็นต์ ของยุโรปตก 71 เปอร์เซ็นต์

ตลาดหุ้นภูมิภาคอื่นๆ เช่นภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคแอฟริกา และ ภูมิภาคอเมริกา ก็ขึ้นและตกในรูปแบบเดียวกันและเวลาเดี๋ยวกันนี้

ตลาดหุ้นยุโรปตกลง 71 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงินโลก ค่าเงินยูโร ก็จะเสียหายเช่นเดียวกัน เป็นที่มาของการล้มลงของภาคการผลิตจริง และภาคบริการ หนี้เสียสูง โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป และไอเอ็มเอฟ เช่น ไอซแลนด์ ไอร์แลนด์ ปอร์ตุเกส อิตาลี สเปน และกรีซ

ผลกระทบต่ออาเซียน

2008 (2551) ประเทศอาเซียน ตลาดหุ้นอาเซียนตก ค่าเงินอาเซียนตก

ตลาดหุ้นอาเซียนก็สูงขึ้นแบบเดียวกับตลาดหุ้นโลกระหว่างปี 2000-2007 แล้ว ก็พังทลายลงในปี 2008 เช่นเดียวกัน เป็น Hamburger Crisis เช่นเดียวกัน

แผนภูมิซ้าย เป็นดัชนีตลาดหุ้นอาเซียน 7 ประเทศ

แผนภูมิขวา เป็นดัชนีค่าเงินอาเซียน 7 ประเทศ

ตามภาพที่ลูกศรชี้ลง แสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นอาเซียนตกลง ค่าเงินเงินอาเซียนก็ตกลง

ยืนยัน การตกลงของตลาดหุ้นอาเซียน เป็นต้นเหตุ ให้ค่าเงินอาเซียนตก

หมายเหตุ ดัชนีตลาดหุ้นอาเซียน 7 ประเทศ ดัชนีค่าเงินอาเซียน 7 ประเทศ เป็นดัชนีที่ผู้เขียนพัฒนาขึ้นมาเอง

ผลกระทบต่อราคาโภคภัณฑ์ เช่นราคา ทองคำ น้ำมัน

การพังทลายของแนสแดกซ์ ในปี 2000 ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหายหรือมีค่าน้อยลง ทำให้การซื้อสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม ต้องใช้เงินเหรียญสหรัฐมากขึ้น ทำให้เห็นว่าราคาสินค้าและบริการนั้นราคาสูงขึ้น

นอกจากค่าเงินและตลาดหุ้นของประเทศต่างๆจะสูงขึ้นแล้ว และสูงขึ้นอย่างรุนแรง (ที่นำเสนอช่วงต้น) ราคาทองคำและน้ำมันก็สูงขึ้นรุนแรง ก็คือเงินเฟ้อโลกหรือค่าครองชีพโลกสูงขึ้นอย่างรุนแรงนั่นเอง เป็นต้นเหตุให้มีการชุมนุม จลาจล ในหลายๆประเทศ

การสวมรอยปั่นราคา การสูงขึ้นและตกลงของ ค่าเงินประเทศต่างๆ ตลาดหุ้นประเทศต่างๆ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว แต่เป็นไปตามปัจจัยทางเทคนิค ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยามวลชน ต่อนักลงทุนทั่วโลก โดยสวมรอยปั่นให้ขึ้นแรง และตกแรง การสวมรอยปั่น ตลาดเงิน ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เกิดขึ้นในเวลาเดียว และทิศทางเดียวกันทั้งโลก

Hamburger crisis ในปี 2008 ราคาน้ำมันถูกนำมาประกอบการปั่น ทั้งปั่นขึ้นและปั่นลง ภาพของการตกลงของราคาน้ำมัน (แผนภูมิขวา) ที่ตกลงรวดเร็วและรุนแรง เกิดขึ้นช่วงระยะเวลา 6 เดือน ของครึ่งหลังปี 2008 เท่านั้น

ไม่มีตลาดหุ้น ตลาดเงิน หรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ใด ไม่ถูกปั่น ล้วนมีการสวมรอยปั่นได้ง่าย จะทำให้ดีกรีความเสียหายมากกว่าปกติ กลุ่มคนปั่น หรือ Hedge Fund จะได้กำไรความจากความแตกต่างของราคามากกว่าปกติ

หลังปี 2000 การปั่นตลาด มันไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่งประเทศใดประเทศเดียว แต่มันเกิดเป็นทั้งภูมิภาคหรือทั้งโลก มีการสวมรอยปั่นตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ของโลกทั้งโลก
 
เกิดอะไรกับค่าเงินหยวนของจีนและค่าเงินริงกิตของมาเลย์เซีย

กลางปี 2005 เงินหยวนของจีน และเงินริงกิตของมาเลย์เซียไม่สามารถยืนค่าเดิมตามที่ตั้งใจผูกค่าไว้ จำเป็นต้องลอยค่า และปล่อยให้แข็งค่าขึ้น

การพังทลายของตลาดแนสแดกซ์ปี 2000 ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายลง

ก่อนกลางปี 2005 เงินหยวนจีนได้ผูกค่า (fixed) กับเงินเหรียญสหรัฐ

คงจำกันได้ ช่วงประเทศไทยลอยค่าเงินบาทและเข้าโครงการไอเอ็มเอฟในปี 2540 ทางประเทศมาเลย์เซียก็ได้ลอยค่าเงินริงกิตเช่นกัน แต่ปี 2541กลับลำไปผูกค่าไว้กับเงินเหรียญสหรัฐอีกครั้ง นักวิชาการและสื่อมวลชวนต่างชื่นชมประเทศมาเลย์เซีย

เมื่อเงินหยวนและริงกิตผูกค่าไว้กับเงินเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินหยวนและเงินริงกิตอ่อนกว่าความเป็นจริง ทำให้มีการเข้ามาไล่ซื้อเงินหยวนและเงินริงกิตตั้งแต่ปี 2000 ซื้อจนถึงกลางปี 2005 ต้านไม่ไหว ยอมยกธงขาว ยกเลิกการผูกค่าไว้อีกต่อไป จะเห็นว่ากลางปี 2005 เงินหยวนและเงินริงกิตต่างแข็งค่าขึ้นด้วยกันทั้งคู่

เป็นการพ่ายแพ้ของจีนและมาเลย์เซียต่อ Hedge Fund ครั้งสำคัญ เพียงแต่เป็นการพ่ายแพ้แบบเงินไหลเข้าประเทศ คนทั่วไปจึงไม่รู้สึกว่ามีความเสียหาย แต่แท้ที่จริงมีความเสียหาย ผู้ที่มีกำไรจากเรื่องนี้คือบรรดา Hedge Fund ยิ่งเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเท่าใด Hedge Fund ยิ่งกำไรมากขึ้นเท่านั้น สักวันหนึ่ง ที่เงินไหลเข้านี้ มันก็จะไหลออกได้เช่นกัน

ระหว่างกลางปี 2008 ที่โลกเป็น Hamburger Crisis ถึงกลางปี 2010 จีนได้กลับลำไปผูกค่าเงินอีกครั้ง (ดูที่แผนภูมิของเงินหยวน) แต่แล้วก็ไปไม่รอด เงินหยวนถูกไล่ซื้อ จนค่าเงินหยวนแข็งค่าต่อเนื่องถึงทุกวันนี้


ประวัติศาสตร์ดอกเบี้ยของประเทศไทย ตลาดหุ้นพังทลายในปี 2537 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ทำให้สภาพคล่องเสียหาย เห็นได้จากการสูงขึ้นของดอกเบี้ย หลังลอยค่าเงินบาท สภาพคล่องกลับคืนมา อัตราดอกเบี้ยลดลง


ประวัติศาสตร์เงินเฟ้อของประเทศไทย การลอยค่าเงินบาทตั้งแต่กลางปี 1997 (2540) เงินบาทด้อยค่าลงรุนแรง ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และอีกครั้งหนึ่งในปี 2551 (2008) ช่วง Hamburger Crisis เงินบาทอ่อนค่า จะเห็นว่าเงินเฟ้ออยู่ระดับสูงเช่นกัน ความเสียหายของค่าเงินเป็นต้นเหตุให้เงินเฟ้อสูงขึ้น การพังทลายของค่าเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินเฟ้อโลกสูงขึ้น


สภาพคล่องของระบบ การพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2537 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ถึงเดือนกรกฎาคมปี 2540 ที่ต้องเข้าโครงการณ์ไอเอ็มเอฟ ทุนสำรองลดลงเหลือ 1,144 ล้านเหรียญสหรัฐ (วงกลม)

ตลาดแนสแดกซ์และค่าเงินเหรียญสหรัฐพังทลายในปี 2000 (2543) ทำให้เงินไหลออกจากอเมริกามายังภูมิภาคต่างๆของโลก รวมทั้งเข้ามายังประเทศไทย ทำให้ทุนสำรองไทยสูงขึ้น

การเริ่มเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2547 ทำให้เงินไหลเข้ามาเก็งกำไรด้วย หลังรัฐประหาร เงินก็ยังไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง จนรู้สึกว่าล้นเกิน กระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ต้องออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า

ช่วง Hamburger Crisis ปี 2551 ตลาดหุ้นไทยก็ตก ค่าเงินบาทตกลง เป็นอีกจุดหนึ่งที่แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรอง


ทุนสำรองเงินตราโลก รวบรวมจากประมาณ 150 ประเทศ ทุกวันนี้ทุนสำรองที่อยู่ในธนาคารกลางประเทศต่างๆ ไม่ใช่ของประเทศนั้นๆแล้ว แต่เป็นของบรรดากองทุนโลกหรือเฮดจ์ฟันด์ เขาจะนำเข้า หรือจะถ่ายเทออกเมื่อใดก็ได้  ดังเช่นกลางปี 2540 ทุนสำรองของไทยตกลงเหลือ 1,144 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น จากที่ก่อนหน้านั้นเคยสูงถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ทำให้ไทยต้องเข้าไอเอ็มเอฟครั้งที่ 2
ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจที่นำเสนอมาแต่แรก คือความพยายามที่จะแสดงว่า ตลาดทุนคือสิ่งผิดปกติของโลกทุนนิยม

การเปิดตลาดอนุพันธ์ ยิ่งเพิ่มความผิดปกติให้ให้ตลาดหุ้นมาขึ้น ตลาดอนุพันธ์คือการซื้อตัวเลขอ้างอิง กับดัชนีหุ้น ราคาหุ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นราคาสินค้าเกษตร ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน ได้เสียมากกว่าการซื้อขายหุ้นธรรมดา 10 เท่า เนื่องจากใช้เงินประกันการซื้อขาย 10 เปอร์เซ็นต์ ราคาขึ้นก็มีกำไร (ซื้อก่อนขายทีหลัง) ราคาตกก็มีกำไร (ขายก่อนแล้วซื้อคืนทีหลัง) คนรู้ตลาด คนคุมตลาดได้ (Hedge Fund) มั่งคั่งฝ่ายเดียว คนท้องถิ่นหมดตัวอย่างเดียว

กองทุนโลก หรือเฮดจ์ฟันด์ มีข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ มีประสบการณ์ มีทุน และสามารถเคลื่อนย้ายทุนไปตามภูมิภาคต่างๆได้อย่างคล่องตัว จึงสามารถคุมทั้งตลาดทุน ตลาดโภคภัณฑ์ ตลาดเงิน ไม่ว่าราคาของตลาดทุน ตลาดโภคภัณฑ์ ตลาดเงิน จะเป็นอย่างไร เขาก็สามารถทำกำไรได้ทุกทิศทาง ขึ้นก็มีกำไร ตกก็มีกำไร จะเห็นว่าปี 2008 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทุนสำรองโลกก็ยังเพิ่มขึ้น

ทุกวันนี้ทุนสำรองที่อยู่ในธนาคารกลางประเทศต่างๆ ไม่ใช่ของประเทศนั้นๆแล้ว แต่เป็นของบรรดากองทุนโลกหรือเฮดจ์ฟันด์ เขาจะนำเข้า หรือจะถ่ายเทออกเมื่อใดก็ได้ กองทุนโลกหรือเฮดจ์ฟันด์มั่งคั่งแต่ฝ่ายเดียว แต่คนท้องถิ่นยากจนลง หากสถานการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ อนาคตคนฝากเงินอาจจะต้องชำระค่าฝากเงินแก่ธนาคาร ไม่ใช่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก ดังเช่นที่เคยเป็นมา

ส่วนแบ่งผู้ถือหุ้นคนไทยในธนาคารพาณิชย์ของไทย

ดูจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ธนาคารพาณิชย์ของไทย พบว่าสัดส่วนที่เป็นของคนไทยน้อยมาก ส่วนใหญ่ตกเป็นของต่างชาติ หรือตกเป็นของกองทุนหลายสัญชาติ เป็นผลมาจากมีเครื่องมือที่ผิดปกติอยู่ในระบบ    
ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่ได้ยืนอยู่บนขา(ทุน) ตัวเอง แต่ยืนอยู่ได้ด้วยขา (ทุน) ต่างชาติ

เรื่องเช่นนี้ไม่ได้เกิดที่ประเทศไทยที่เดียว แต่เกิดกับทุกประเทศทั่วโลก การเกิดหนี้เสียที่อเมริกาและยุโรปขณะนี้ มีต้นเหตุมาจากการพังทลายของตลาดหุ้นในเบื้องต้น การพังทลายของตลาดแนสแดกซ์ในปี 2000 คือจุดเริ่มต้นการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา การพังทลายของตลาดหุ้นยุโรปในปี 2008 (Hamburger Crisis) คือจุดเริ่มต้นการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรป

การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของยุโรปในปี 2008 เป็นผลต่อเนื่องจากการพังทลายของตลาดหุ้นของอเมริกาในปี 2000 เป็นความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกัน (สัมพันธ์กันทั้งโลก)

Subprime ไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่ Subprime “เป็นผล” มาจากมาจากการพังทลายของตลาดหุ้นแนสแดกซ์ในปี 2000 ที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย ทำให้สภาพคล่องของอเมริกาเสีย เอกชนรายเล็ก (Subprime) ล้มลง

แล้วก็ตามมาด้วยการล้มลงของเอกชนขนาดใหญ่เช่น Enron, WorldCom, Bear Stern, Fannie Mae, Freddie Mac, Lehman Brothers, Merrill Lynch และ AIG รัฐบาลอเมริกันต้องใช้เงินจำนวนมากได้เข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน ทำให้เพดานหนี้ของอเมริกาหลังปี 2000-2012 เพิ่มขึ้นสูงกว่า 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทย อเมริกา ยุโรปและประเทศต่างๆ มีต้นเหตุมาจากเรื่องเดียวกัน

ทำให้เงินฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้คนตกงาน ทำให้ระบบยากจนลง
และทำให้ Hedge Fund โลกมั่งคั่งขึ้น


สรุป กลไกที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ 

 สมการตลาดเงินตลาดทุน ตลาดหุ้นพังทลาย ค่าเงินพังทลาย

 สมการตลาดเงินตลาดทุน กรณีของเงินหยวนจีน (และเงินริงกิตมาเลย์เซีย)


สรุปภาพใหญ่ การทำลายที่สูงกว่าการสร้างสรรค์ ก็จะมีแต่ความเสื่อม

1) การพังทลายของตลาดหุ้นแนสแดกซ์ปี 2000 ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย สภาพคล่องเสียหาย เกิดการล้มลงของเอกชนอเมริกันทั้งระบบ ทำให้ค่าเงิน ทุนสำรอง ตลาดหุ้น นอกเขตดอลลาร์สูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เงินเฟ้อและค่าครองชีพโลกสูงขึ้น

2) การพังทลายของตลาดหุ้นโลกในปี 2008 (Hamburger Crisis) คือเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากการพังทลายของตลาดแนสแดกซ์ในปี 2000 ทำให้โลกเกิดความเสียหายคล้ายกัน ซ้ำเติมกัน


กองทุนโลก Hedge Fund เป็นเจ้าของสินทรัพย์รายใหญ่ของโลก


9/9/2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น